ในบทเรียนก่อนหน้านี้เป็นบทที่เกี่ยวกับแท่งเทียนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เราได้ศึกษารูปแบบแท่งเทียนกลับตัว รูปแบบประเภทนี้จะส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในแนวโน้ม ในทางตรงกันข้าม ยังมีรูปแบบอีกกลุ่มหนึ่งที่ยืนยันความแข็งแกร่งของแนวโน้ม พวกมันถูกเรียกว่ารูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่อง
รูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่อง คือกลุ่มของรูปแบบแท่งเทียนที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มจะกลับคืนอีกครั้ง
"ผมสังเกตเห็นรูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องรูปแบบหนึ่งบนกราฟ แต่แนวโน้มกลับพลิกตัวไปในทิศทางตรงกันข้ามทันที ทำไมมันถึงเกิดขึ้นได้?"
คุณต้องจำไว้ว่าหลังจากรูปแบบต่อเนื่อง อาจมีการปรับฐานเกิดขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังฝนตกย่อมมีแสงแดด เฉกเช่นเดียวกันกับการซื้อขาย หากคุณเห็นรูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องและแนวโน้มเริ่มปรับฐาน มีโอกาส 80% ที่ราคาจะกลับมาเคลื่อนไหวในแนวโน้มเดิม
โดยรวมแล้ว รูปแบบต่อเนื่องจะช่วยให้คุณได้พักหายใจก่อนจะขยับขึ้นต่อ มาดูรูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องยอดนิยมที่คุณต้องทำความคุ้นเคยกัน
ความต่อเนื่องของแนวโน้มขาขึ้น
รูปแบบแท่งเทียนใดที่คุณต้องดูเพื่อยืนยันความแข็งแกร่งของแนวโน้มขาขึ้น? มาหาคำตอบกัน!
รูปแบบ Rising Window
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 2
2. ความถี่ของการเกิด: สูง
3. สี: สัญญาณจะแข็งแกร่งขึ้นหากแท่งเทียนทั้งสองเป็นแท่งเทียนขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนแท่งแรกอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นหรือปิดเหนือเส้นแนวโน้ม และจุดต่ำสุดของแท่งที่สองอยู่เหนือจุดสูงสุดของแท่งแรก
รูปแบบอาจมีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ “ช่องว่างด้านบน” โดยมีข้อยกเว้นบางประการ ประการแรก มันควรจะปรากฏในช่วงขาขึ้น ประการที่สอง ราคาปิดของแท่งเทียนแท่งแรกควรปรากฏขึ้นเหนือเส้นแนวโน้ม ประการสุดท้าย แท่งเทียนแท่งที่สองควรเปิดเหนือราคาปิดของแท่งเทียนแท่งแรก
นี่เป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอีกสามประการเกี่ยวกับรูปแบบนี้:
ตามที่นักวิจัยได้ระบุไว้ว่าหากแท่งเทียนแท่งที่สองในรูปแบบนี้เป็นแท่งขาลงหรือแท่ง Doji สัญญาณก็จะอ่อนแอลง
Steve Nison อ้างว่าสัญญาณของรูปแบบนี้จะแข็งแกร่งขึ้นหากมันปรากฏขึ้นหลังจากรูปแบบกลับตัวขาขึ้น
หากรูปแบบ “Rising Window” ปรากฏขึ้นสามครั้ง ก็มีโอกาสสูงที่แนวโน้มจะกลับตัว
รูปแบบ Upside Tasuki Gap
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 3
2. ความถี่ของการเกิด: ต่ำ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกและแท่งที่สองเป็นแท่งขาขึ้น ส่วนแท่งที่สามเป็นแท่งขาลง
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนแท่งแรกอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นหรือปิดเหนือเส้นแนวโน้ม จุดต่ำสุดของแท่งที่สองจะอยู่เหนือจุดสูงสุดของแท่งแรก และแท่งที่สามควรเปิดภายในเนื้อเทียนของแท่งก่อนหน้าและปิดเหนือราคาปิดของแท่งแรก ฟังดูซับซ้อนใช่ไหม? ดูภาพด้านล่างสิ!
หากคุณต้องการซื้อขายตามช่องว่าง คุณต้องจำรูปแบบนี้ไว้ หลังจากที่แท่งเทียนอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แท่งถัดไปจะเปิดขึ้นพร้อมกับช่องว่าง จากนั้นแท่งที่สามจะเปิดต่ำกว่าและปิดต่ำกว่าแท่งก่อนหน้า จำไว้เสมอว่าความน่าเชื่อถือของรูปแบบนี้จะสูงขึ้นหากช่องว่างไม่ถูกปิดในช่วงเวลาถัดไป
"จำเป็นต้องจดจำรูปแบบนี้จริง ๆ เหรอ?"
ตามที่ Steve Nison ได้กล่าวไว้ ส่วนที่สำคัญที่สุดของรูปแบบนี้คือช่องว่าง (หน้าต่าง) หากมันปรากฏขึ้นบนกราฟมันก็จะทำหน้าที่เป็นแนวรับ แนวโน้มก็มีโอกาสที่จะกลับตัวหากแท่งเทียนแท่งถัดไปปิดต่ำกว่าช่องว่างนี้ (ใต้แนวรับ)
รูปแบบ Upside Gap Three Methods
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 3
2. ความถี่ของการเกิด: ต่ำ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกและแท่งที่สองเป็นแท่งขาขึ้น ส่วนแท่งที่สามก็เป็นแท่งขาลง
4. ลักษณะสำคัญ: สถานการณ์จะคล้าย ๆ กับรูปแบบ Tasuki Gap ข้อแตกต่างหลักคือแท่งเทียนที่สามควรเปิดภายในเนื้อเทียนของแท่งขาขึ้นที่อยู่ด้านบนและปิดภายในเนื้อเทียนของแท่งที่อยู่ด้านล่าง
รูปแบบ Upside Gap Three Methods มีอะไรพิเศษ? มันแตกต่างจาก Upside Tasuki Gap อย่างไร? กรณีที่เป็นรูปแบบนี้ ช่องว่างจะต้องถูกปิด รูปแบบนี้ต้องการการยืนยัน โดยอาจเป็นแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่ที่ปิดเหนือราคาเปิดของแท่งที่สาม
รูปแบบ Rising Three Methods
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 4-7
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาขึ้น ส่วนแท่งที่ 2-5 ถัดมาเป็นแท่งขาลง และแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่จะยืนยันรูปแบบ
4. ลักษณะสำคัญ: หลังจากที่มีแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่ในแนวโน้มขาขึ้น ก็จะมีชุดของแท่งเทียนขาลงขนาดเล็กตามมา ซึ่งจะแสดงให้เห็นการพักตัวของแนวโน้ม และแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่หลังการปรับฐานจะเป็นสิ่งยืนยันความต่อเนื่องของแนวโน้ม
ทุกแนวโน้มจะต้องเผชิญกับการปรับฐานในตอนที่นักลงทุนกำหนดผลกำไรของตน นี่คือสิ่งที่รูปแบบนี้แสดงให้เห็น หลังจากที่มีการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ก็มีแท่งเทียนขาลงขนาดเล็กจำนวนหนึ่งเกิดขึ้น จำนวนที่เหมาะสมที่สุดของแท่งเทียนดึงกลับดังกล่าวควรเป็น 3 แท่ง แต่จะเป็น 2, 4 หรือ 5 แท่งก็ได้เช่นกัน แท่งเทียนขาลงเหล่านี้จะต้องไม่ปิดต่ำกว่าราคาเปิดของแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่แท่งแรก
นี่เป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอีกสามประการเกี่ยวกับรูปแบบนี้
ไส้ของแท่งเทียนขาลงไม่ควรต่ำกว่าราคาเปิดของแท่งเทียนขาขึ้น
แท่งเทียนแท่งสุดท้ายของรูปแบบควรเปิดภายในเนื้อเทียนของแท่งขาลงแท่งสุดท้ายและปิดเหนือแท่งขาขึ้นขนาดใหญ่แท่งแรก
มันดูเหมือนรูปแบบ “Flag” มาก ๆ! แถมสัญญาณของมันก็ยังเหมือนกันอีกด้วย
รูปแบบ Mat hold
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 4-7
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาขึ้น ส่วนแท่งที่ 2-5 ถัดมาเป็นแท่งขาลง และแท่งเทียนขาขึ้นแท่งใหญ่ ๆ จะยืนยันรูปแบบ
4. ลักษณะสำคัญ: คล้าย ๆ กับรูปแบบ Rising Three Methods แต่มีช่องว่างด้านบนที่ตามมาด้วยชุดของแท่งเทียนเล็ก ๆ แท่งเทียนเหล่านี้จะยังคงอยู่ใกล้กับจุดสูงสุดของช่วงของแท่งเทียนขาขึ้นแท่งแรก ส่วนแท่งที่สองหรือแท่งที่สามจะจุ่มลงในเนื้อเทียนของแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่ โดยแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่นี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันรูปแบบ
รูปแบบนี้กับ Rising Three Methods ต่างกันอย่างไรบ้าง? ประการแรก มีช่องว่างด้านบนหลังแท่งเทียนขาขึ้นแท่งแรก ประการที่สอง แท่งเทียนแท่งที่สองและสามควรอยู่ใกล้ด้านบนของแท่งเทียนแท่งแรก สุดท้าย รูปแบบนี้จะให้สัญญาณที่แข็งแรงกว่ารูปแบบก่อน
รูปแบบ Three Line Strike
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 3
2. ความถี่ของการเกิด: ต่ำ
3. สี: แท่งเทียนขาขึ้นสามแท่ง ส่วนแท่งที่สี่เป็นแท่งขาลง
4. ลักษณะสำคัญ: หลังแท่งเทียนขาขึ้นที่แข็งแกร่งสามแท่งปิดสูงขึ้นเรื่อย ๆ แท่งที่สี่จะเปิดเหนือแท่งเทียนเหล่านั้นและหลังจากนั้นก็กลับลงมาปิดต่ำกว่าราคาเปิดของแท่งเทียนแท่งแรก
รูปแบบแท่งเทียนนี้อาจเข้าใจยากหน่อย เทรดเดอร์มือใหม่อาจกลัวแท่งเทียนขาลงขนาดใหญ่ที่ตามมาหลังจากแท่งเทียนขาขึ้นจนต้องปิดคำสั่งซื้อขายของตนไปก่อน อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้จักรูปแบบนี้ คุณสามารถมั่นใจได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแท่งเทียนเหล่านี้จะเป็นเพียงการปรับฐานชั่วคราว และหลังจากนั้น แนวโน้มจะคืนกลับไปในทิศทางของแท่งเทียน 3 แท่งแรก เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าอย่างน้อยแท่งเทียนขาขึ้นนั้นมีขนาดพอ ๆ กับแท่งเทียนทั่วไปโดยเฉลี่ย
รูปแบบ Separating Lines
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 3
2. ความถี่ของการเกิด: ต่ำ
3. สี: แท่งแรกและแท่งที่สามเป็นแท่งขาขึ้น ส่วนแท่งที่สองเป็นแท่งขาลง
4. ลักษณะสำคัญ: รูปแบบจะปรากฏในแนวโน้มขาขึ้น หลังแท่งเทียนขาขึ้นยาว ๆ แท่งเทียนขาลงจะเปิดขึ้นโดยมีช่องว่างแต่ปิดเมื่อถึงจุดสูงสุดของแท่งเทียนขาขึ้น ส่วนแท่งถัดไปจะเป็นแท่งขาขึ้นที่เปิดที่ระดับเดียวกับแท่งเทียนขาลง ในกรอบเวลาที่เล็กกว่า คุณจะสังเกตเห็นช่องว่าง แท่งเทียนแท่งที่สองจะไม่มีไส้ล่าง
ชื่อของรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย! แท่งเทียนสามแท่งเคลื่อนที่ไปคนละทิศทาง พวกมันจึงแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง รูปแบบนี้หมายความว่า แม้ว่าเหล่าผู้ขายจะสามารถครองตลาดได้ แต่ทำได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วจากนั้นเหล่าผู้ซื้อก็กลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งกว่า ให้ระวังสามช่วงเวลานี้ไว้ให้ดี ซึ่งมันประกอบไปด้วย
แท่งเทียนขาขึ้นแท่งที่สามและแท่งเทียนขาลงแท่งที่สองต้องเปิดที่ราคาเดียวกัน
แท่งเทียนขาขึ้นแท่งที่สามไม่มีไส้ล่าง
ยิ่งแท่งเทียนในรูปแบบ “Separating Lines” ขาขึ้นยาวมากเท่าใด รูปแบบนี้ก็ยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น
ข้างต้น เราได้พิจารณารูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องหลักที่ปรากฏในช่วงขาขึ้น ในส่วนถัดไปของบทเรียนนี้ เราจะมาดูรูปแบบที่ส่งสัญญาณถึงความแข็งแกร่งของแนวโน้มขาลง
ความต่อเนื่องของแนวโน้มขาลง
รูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องส่วนใหญ่ที่เราจะอธิบายนั้นก็เหมือนกันกับในแนวโน้มขาขึ้น เดี๋ยวเรามาดูรายละเอียดกันดีกว่า
รูปแบบ Falling Window
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 1
2. ความถี่ของการเกิด: สูง
3. สี: แท่งขาลง
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาลง และแท่งเทียนแท่งที่สองจะปรากฏขึ้นหลังช่องว่าง จุดสูงสุดของแท่งเทียนจะอยู่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดของแท่งก่อนหน้า
รูปแบบนี้จะมีช่องว่างด้านล่าง ความน่าเชื่อถือของรูปแบบนี้จะเพิ่มขึ้นหากมันปรากฏขึ้นหลังจากรูปแบบการกลับตัวเป็นขาลง (ดูตัวอย่างด้านบน) รูปแบบจะได้รับการยืนยันหากแท่งเทียนถัดไปหลังจากรูปแบบนี้เป็นแท่งขาลง โปรดใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการซื้อขายรูปแบบนี้ เนื่องจากช่องว่างอาจเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการกลับตัวขาขึ้น
รูปแบบ Downside Tasuki Gap
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 3
2. ความถี่ของการเกิด: ต่ำ
3. สี: แท่งแรกและแท่งที่สองเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่สามก็เป็นแท่งขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: ช่องว่างด้านล่างหลังจากแท่งเทียนแท่งแรกอยู่ในแนวโน้มขาลง แท่งที่สองจะเป็นแท่งขาลง แท่งที่สามควรเปิดและปิดสูงกว่าแท่งก่อนหน้า
ส่วนสำคัญของรูปแบบนี้คือช่องว่างด้านล่าง ซึ่งหลังจากช่องว่างนี้ก็ควรตามมาด้วยแท่งเทียนขาลง แท่งเทียนแท่งที่สามควรเปิดสูงกว่าราคาปิดของแท่งที่สองและปิดเหนือแท่งที่สอง
รูปแบบ Downside Gap Three Methods
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 3
2. ความถี่ของการเกิด: ต่ำ
3. สี: แท่งแรกและแท่งที่สองเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่สามก็เป็นแท่งขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: หลังจากแท่งเทียนแท่งแรกอยู่ในแนวโน้มขาลงก็มีช่องว่างด้านล่างเกิดขึ้น แท่งที่สองเป็นแท่งขาลง แท่งถัดไปจะเปิดภายในเนื้อเทียนของแท่งที่สอง ปิดช่องว่าง และปิดแท่งเทียนภายในเนื้อเทียนของแท่งเทียนแท่งแรก
"มันเหมือนกับรูปแบบกลับตัว Morning Star เลย!"
โปรดสังเกตข้อเท็จจริงที่ว่าแท่งเทียนแท่งที่สามปิดภายในเนื้อเทียนของแท่งแรก ยิ่งปิดต่ำเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่มันจะเป็นรูปแบบขาลงต่อเนื่อง รูปแบบนี้อาจเป็นกับดักสำหรับมือใหม่ที่ศึกษารูปแบบแท่งเทียน ความสับสนที่เกิดขึ้นอาจมาพร้อมกับช่องว่างที่ถูกปิด และแม้ว่าช่องว่างจะปิดลง แต่เหล่าหมีก็ยังคงควบคุมตลาดได้อยู่ดี ดังนั้นควรยืนยันรูปแบบด้วยราคาที่เคลื่อนที่ลงไปต่ำกว่าแท่งเทียนแท่งที่สอง
รูปแบบ On Neck
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 2
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่สองเป็นแท่งขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนยาว ๆ แท่งแรกเปิดขึ้นพร้อมด้วยช่องว่างด้านล่าง และแท่งที่สองแตะถึงจุดต่ำสุดของแท่งก่อนหน้า
แท่งเทียนถัดไปมีไว้สำหรับแฟนแท่งเทียนตัวจริง! ไม่ง่ายเลยที่จะมองเห็นพวกมัน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเห็นพวกมันด้วยสายตาที่ไม่ได้เตรียมพร้อมมาก่อน แท่งเทียนขาลงแท่งแรกจะเปิดขึ้นโดยมีช่องว่างด้านล่างและมีเนื้อเทียนยาว ๆ ส่วนแท่งที่สองจะเป็นแท่งขาขึ้นและแตะที่ระดับต่ำสุดของวันก่อนหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ระดับปิดของมัน
รูปแบบนี้หมายความว่าแม้ว่ากระทิงจะพยามเข้าครองตลาด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถดันราคาให้สูงได้มากพอ ดังนั้นแนวโน้มขาลงจะดำเนินต่อไปหลังจากที่มีการปรับฐานขาขึ้นในช่วงสั้น ๆ
รูปแบบ In Neck
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 2
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่สองเป็นแท่งขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนยาว ๆ แท่งแรกเปิดโดยมีช่องว่างด้านล่าง และแท่งที่สองปิดที่ราคาปิดของแท่งแรกหรือปิดสูงกว่านั้นเล็กน้อย
รูปแบบนี้คล้ายกับรูปแบบ “On Neck” เพียงแต่แท่งเทียนแท่งที่สองจะปิดที่ราคาปิดของแท่งแรกหรือภายในเนื้อเทียนของแท่งแรก รูปแบบ “In neck” จะบ่งชี้ว่ามีการซื้อกลับ แต่ทิศทางของแนวโน้มกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงเป็นตลาดขาลง
รูปแบบ Thrusting
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 2
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่สองเป็นแท่งขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนยาว ๆ แท่งแรกเปิดขึ้นโดยมีช่องว่างด้านล่าง และแท่งที่สองจะปิดใกล้แต่ต่ำกว่าจุดกึ่งกลางของเนื้อเทียนของแท่งแรกเล็กน้อย
รูปแบบ Falling Three Methods
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 4-7
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนแท่งแรกเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่ 2-5 ถัดมาเป็นแท่งขาขึ้น และแท่งสุดท้ายของรูปแบบเป็นแท่งขาลง
4. ลักษณะสำคัญ: แท่งเทียนแท่งแรกมีขนาดยาว หลังจากนั้นจะมีแท่งขาขึ้น 2-5 แท่ง แท่งถัดไปจะมีราคาเปิดที่อยู่ภายในเนื้อเทียนของแท่งขาขึ้นแท่งสุดท้ายและมีราคาปิดต่ำกว่าราคาปิดของแท่งขาลงแท่งแรก
รูปแบบนี้จะตรงกันข้ามกับรูปแบบ Rising Three Methods มันบ่งบอกถึงความต่อเนื่องของแนวโน้มขาลง หลังจากแท่งเทียนขาขึ้นยาว ๆ ก็จะมีแท่งเทียนขาขึ้นเล็ก ๆ อีก 2-5 แท่งตามมา รูปแบบจะได้รับการยืนยันเมื่อแท่งเทียนขาลงแท่งใหญ่ปรากฏขึ้นบนกราฟ เปิดในเนื้อเทียนของแท่งขาขึ้นแท่งสุดท้าย และปิดต่ำกว่าราคาปิดของแท่งเทียนขาลงแท่งใหญ่แท่งแรก
รูปแบบ Bearish Three Line Strike
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ:
1. จำนวนแท่งเทียน: 4
2. ความถี่ของการเกิด: กลาง ๆ
3. สี: แท่งเทียนสามแท่งแรกเป็นแท่งขาลง ส่วนแท่งที่สี่เป็นแท่งขาขึ้น
4. ลักษณะสำคัญ: หลังจากแท่งเทียนขาลงที่แข็งแกร่งสามแท่งที่ปิดต่ำลงเรื่อย ๆ แท่งที่สี่จะเปิดต่ำกว่าแท่งเทียนเหล่านั้นแต่จากนั้นก็จะวกกลับมาปิดเหนือราคาเปิดของแท่งเทียนแท่งแรก
นี่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ขัดแย้งกัน หลังแท่งเทียนขาลงสามแท่ง ผู้ซื้อจะพยายามครองตลาด เป็นผลให้เกิดแท่งเทียนขาขึ้นขนาดใหญ่ ส่วนที่ยุ่งยากก็คือแท่งเทียนสองแท่งสุดท้ายอาจมีลักษณะคล้ายกับรูปแบบกลืนกินขาขึ้น ดังนั้น คุณต้องจำกฎต่อไปนี้ไว้ให้ดี หากแท่งเทียนแท่งถัดไปหลังจากรูปแบบปิดเหนือแท่งเทียนขาขึ้น มันจะบ่งชี้ถึงการกลับตัวเป็นขาขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากแท่งเทียนถัดไปหลังจากรูปแบบปิดไม่เกินจุดสูงสุดของแท่งเทียนแท่งสุดท้าย สถานการณ์นี้แสดงว่าแนวโน้มจะยังคงดำเนินต่อไป
ยินดีด้วย! ตอนนี้คุณก็ได้รู้จักสัญญาณมากขึ้นแล้ว
สรุปบทเรียน
รูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องหมายถึงกลุ่มของรูปแบบแท่งเทียนที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มจะกลับมาดำเนินต่อไปอีกครั้ง
เมื่อรูปแบบแท่งเทียนต่อเนื่องปรากฏขึ้น มันก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดจะกลับตัวในทันที แต่อาจเป็นเพียงการปรับฐานหลังจากเกิดรูปแบบ
รูปแบบต่อเนื่องที่คุณสังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดคือ Rising Windows และ Falling Windows คุณอาจรู้จักรูปแบบเหล่านี้ว่าเป็นช่องว่างต่อเนื่อง
คุณต้องมีความระมัดระวังกับบางรูปแบบต่อเนื่อง เช่น Three Line Strike และ Gap Three Methods เนื่องจากรูปแบบเหล่านี้อาจมีรูปแบบการกลับตัวในโครงสร้างของตัวมันเอง
กำลังจะมา
ในบทเรียนสุดท้ายของหลักสูตรนี้ เราจะได้เรียนรู้วิธีการนำรูปแบบแท่งเทียนญี่ปุ่นต่าง ๆ ไปใช้ในทางปฏิบัติ คุณจะได้รู้จักกลยุทธ์การซื้อขายใหม่ ๆ ที่แม้แต่มือใหม่ก็สามารถเชี่ยวชาญได้ คอยติดตามได้เลย!